ข้อมูลพื้นฐาน

สภาพปัจจุบัน

        สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลพบุรี เขต 2 เป็น หน่วยงานที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติ ระเบียบ บริหารราชการ กระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546 ทำหน้าที่ในการบริหารจัดการศึกษา ขั้นพื้นฐาน ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 อันจะ ส่งผลให้เด็กและเยาวชน ได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน อย่างมีคุณภาพและเสมอภาค โดยมีข้อมูลพื้นฐาน ดังนี้

ข้อมูลทั่วไป

1. ที่ตั้งและอาณาเขต
                สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลพบุรี เขต 2 มีที่ตั้งอยู่บริเวณโรงเรียนอนุบาลลำนารายณ์ ตำบลลำนารายณ์อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี มีหน้าที่รับผิดชอบการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานประกอบด้วย 7 อำเภอ ได้แก่อำเภอชัยบาดาล อำเภอท่าหลวง อำเภอลำสนธิ อำเภอพัฒนานิคม อำเภอหนองม่วง อำเภอโคกเจริญและอำเภอสระโบสถ์   มีอาณาเขตติดต่อกับเขตพื้นที่ใกล้เคียง ดังนี้
                       ทิศเหนือ ติดต่อสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเพชรบูรณ์ เขต 3
                       ทิศใต้ ติดต่อสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสระบุรี เขต 1 และ 2
                       ทิศตะวันออก ติดต่อสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาชัยภูมิ เขต 3
                       ทิศตะวันตก ติดต่อสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลพบุรี เขต 1 และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานครสวรรค์ เขต 3

2. ลักษณะภูมิประเทศและภูมิอากาศ
                ลักษณะภูมิประเทศของเขตพื้นที่การศึกษาลพบุรี เขต 2 เป็นพื้นที่ราบ สลับเนินเขาและป่าไม้เกือบทั้งหมดส่วนด้านภูมิอากาศ จะมีอากาศแบบร้อน อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดทั้งปีประมาณ 29.06 องศาเซลเซียส

3. ประชากร
               สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลพบุรี เขต 2 ประกอบด้วย 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอชัยบาดาล อำเภอท่าหลวง อำเภอลำสนธิ อำเภอพัฒนานิคม อำเภอหนองม่วง อำเภอโคกเจริญ และอำเภอสระโบสถ์

4. อาชีพที่สำคัญ
     1. การกสิกรรม ประชาชนส่วนใหญ่ ประกอบอาชีพด้านการกสิกรรมเป็นหลัก โดยพืชที่มีพื้นที่ เพาะปลูกมากที่สุดได้แก่  พืชไร่ ข้าวโพด อ้อย ทานตะวัน ข้าวฟ่าง มันสำปะหลัง งา ถั่วเขียว ถั่วเหลือตามลำดับ
     2. การประมง เขตพื้นที่การศึกษาลพบุรี เขต 2 มีแม่น้ำป่าสักไหลผ่าน และยังมีแหล่งน้ำ ขนาดใหญ่ เช่น เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์, อ่างเก็บน้ำซับตะเคียน และบึงต่าง ๆ ทำให้เกิดอาชีพการประมงกระจายไปทั่วพื้นที่ที่อยู่ติดแหล่งน้ำดังกล่าว นอกจากนั้น เกษตรกรยังขุด บ่อเลี้ยงปลาควบคู่ ไปกับการทำนา ทำไร่ อีกด้วย
     3. การปศุสัตว์ การปศุสัตว์มีความสำคัญในการผลิตทางการเกษตร รองลงมาจากการกสิกรรม โดยชนิดของสัตว์ที่เลี้ยงกันมาก ได้แก่ สุกร โคเนื้อ โคนม และเป็ด โดยมีพื้นที่ปศุสัตว์กระจายในทุกอำเภอ
    4. อุตสาหกรรม เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลพบุรี เขต 2 เป็นที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรม ทั้งขนาดเล็ก และ ขนาดใหญ่ ซึ่งมีทั้งอุตสาหกรรม ที่ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ และส่งออกยังต่างประเทศ

5. ทรัพยากร
    1. ป่าไม้
      – ป่าซับลังกา อยู่ในท้องที่อำเภอชัยบาดาล และอำเภอลำสนธิ มีพื้นที่ 248,987.50 ไร่ (398.38 ตารางกิโลเมตร)
      – ป่าวังเพลิง ป่าม่วงค่อม ป่าลำนารายณ์ อยู่ในท้องที่อำเภอชัยบาดาล อำเภอสระโบสถ์ อำเภอโคกเจริญ และอำเภอโคกสำโรง มีพื้นที่ 447,082 ไร่ (715.33 ตารางกิโลเมตร)
      – ป่าชัยบาดาล อยู่ในท้องที่อำเภอชัยบาดาล อำเภอท่าหลวง อำเภอพัฒนานิคมและอำเภอลำสนธิ
    2. สัตว์ป่า
      – เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าซับลังกา ในท้องที่อำเภอลำสนธิ มีพื้นที่ประมาณ 96,875 ไร่
      – เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาสมโภชน์ ในท้องที่อำเภอชัยบาดาล มีพื้นที่ประมาณ 8,840 ไร่
    3. น้ำตก
       – มีน้ำตกที่สวยงามหลายแห่ง เช่น น้ำตกวังก้านเหลือง น้ำตกสวนมะเดื่อ น้ำตกวังแสนดี เป็นต้น
    4.  แร่ธาตุ
       – ในเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลพบุรี เขต 2 มีแร่ธาตุที่สำคัญ เช่น แร่เหล็ก แร่ควอร์ต ฟอตเฟต ทองแดง หินอ่อน และหินปูน
 6. สภาพสังคมและวัฒนธรรม
     1. ศาสนา ในเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลพบุรี เขต 2 ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ มีศาสนาคริสต์ และอิสลามเป็นบางส่วน
    2. ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม และการละเล่นพื้นบ้าน และแหล่งโบราณคดี ในเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลพบุรี เขต 2 ปฏิบัติสืบทอดกันมาแต่ โบราณจนถึงปัจจุบัน ได้แก่
       – การขุดพบโครงกระดูกมนุษย์หินใหม่ อายุระหว่าง 2,700 – 3,500 ปี ณ บ้านโคกเจริญ อำเภอโคกเจริญ
       – แหล่งโบราณคดีโป่งมะนาว อำเภอพัฒนานิคม
       – ชุมชนโบราณสมัยทวาราวดี ซึ่งมีความเจริญรุ่งเรืองทางวัฒนธรรม ประมาณ 1,000 ปี เช่น เมืองโบราณซับจำปา เมืองใหม่ไพศาลี อยู่ในเขตอำเภอท่าหลวง
        – การละเล่นพื้นบ้าน ในเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลพบุรี เขต 2 มีการเล่นพื้นบ้านหลายประเภท เช่น รำโทน, เดินกะลา, เดินไม้โทกเทก เป็นต้น
 7. สถานที่ท่องเที่ยวและแหล่งศึกษาเรียนรู้
    ในเขตพื้นที่การศึกษาลพบุรี เขต 2 รวม 7 อำเภอ จัดได้ว่าเป็นเขตที่มีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติอยู่มากมาย เป็นที่นิยมของคนทั่วไปประกอบด้วย
    1. ทุ่งทานตะวัน มีการปลูกทานตะวันมากที่สุดในประเทศไทย ในเขตอำเภอพัฒนานิคม อำเภอชัยบาดาล อำเภอหนองม่วง ซึ่งดอกทานตะวันจะบานสะพรั่งในช่วงเดือน พฤศจิกายน – มกราคม
    2. เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เป็นโครงการพัฒนาลุ่มแม่น้ำป่าสัก อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นเขื่อนแกนดินเหนียว กักเก็บน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วมที่ลุ่มภาคกลาง และเพื่อการชลประทานในพื้นที่อำเภอพัฒนานิคม อำเภอท่าหลวง และอำเภอชัยบาดาล
    3. น้ำตกสวนมะเดื่อ เป็นน้ำตกที่เกิดจากน้ำผุดในลำคลองตามธรรมชาติ มี 12 ชั้น ความยาว น้ำตก ประมาณ 1.5 กม. ในอำเภอพัฒนานิคม
    4. น้ำตกตาวต้น อยู่ในอำเภอสระโบสถ์
    5. สวนรุกขชาติน้ำตกวังก้านเหลือง เป็นน้ำตกที่เกิดจากตาน้ำใต้ดินขนาดใหญ่ ที่ตำบล ท่าดินดำ อำเภอชัยบาดาล
    6. เขาฟ้าแลบ อยู่ในอำเภอสระโบสถ์
    7. พิพิธภัณฑ์บ้านโป่งมะนาว เป็นแหล่งโบราณคดีมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ อายุประมาณ 2,500 – 3,000 ปี ประมาณยุค “บ้านเชียงตอนปลาย” ที่อำเภอ พัฒนานิคม
   8. เขตห้ามล่าพันธ์สัตว์ป่าเขาสมโภชน์ เป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาสมโภชน์ มีเนื้อที่ประมาณ 13,504 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 8,440 ไร่ อยู่ในท้องที่อำเภอชัยบาดาล
   9. เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าซับลังกา อยู่ในหุบเขาล้อมรอบด้วยเทือกเขา เป็นรูปก้ามปู ด้านทิศตะวันออกกั้นด้วยเทือกเขาพังเหยทิศตะวันตกเป็นเขารวก เป็นป่าที่มี ความอุดมสมบูรณ์แห่งเดียวของภาคกลาง ตั้งอยู่ที่อำเภอลำสนธิ
  10. ปรางค์นางผมหอม เป็นปรางค์เดี่ยว ก่ออิฐ ฐานเป็นหินทรายเป็นปรางค์ขนาดเล็กคล้าย ปรางค์กู่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ในท้องที่อำเภอลำสนธิ 
สภาพปัญหาในการจัดการศึกษาของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาลพบุรี เขต 2
    1. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนอยู่ในระดับต่ำ และมีบางวิชาต่ำกว่าเกณฑ์ขั้นผ่านของ สพฐ.
    2. ครูผู้สอนมีภารกิจรับผิดชอบงานหลายด้าน เช่น งานธุรการ – การเงินพัสดุ การจัดทำข้อมูลสารสนเทศ โดยใช้โปรแกรม คอมพิวเตอร์ จำนวนมากกว่า 4 โปรแกรม จึงไม่สามารถจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
   3. โรงเรียนขนาดเล็ก (นักเรียนต่ำกว่า 120 คน) เป็นโรงเรียนที่ขาดแคลนทั้งบุคลากร งบประมาณ และอยู่ในท้องถิ่นห่างไกลกันดาร
   4. สื่อ วัสดุ อุปกรณ์ เทคโนโลยีที่ทันสมัย สมรรถนะสูงมีไม่เพียงพอ และงบประมาณในการบำรุงรักษา ซ่อมแซม
   5. การให้บริการทางการศึกษาถูกจำกัดด้วยจำนวนบุคลากรและงบประมาณ ทั้งระดับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และสถานศึกษาทำให้การพัฒนาไม่เป็นไปตามเป้าหมาย