ประชาสัมพันธ์ความรู้เรื่องการคัดแยกขยะ

ประชาสัมพันธ์ความรู้เรื่องการคัดแยกขยะ🗑️
การคัดแยกขยะให้ถูกวิธี
ประเภทของขยะ ที่ทิ้งกันอยู่ทั่วไปมี 4 ประเภท ได้แก่
1. ขยะย่อยสลายได้ เช่น เศษอาหารและพืชผัก ที่เหลือจากการรับประทาน และการประกอบอาหาร สามารถนำไปหมักทำปุ๋ยได้ จากปริมาณขยะมูลฝอยทั้งหมดมีประมาณ 46 % ขยะประเภทนี้ให้แยกใส่ถังสีเขียว เพื่อจะนำไปทำปุ๋ยหมัก
2. ขยะรีไซเคิลหรือขยะที่สามารถนำไปขายได้ เช่น แก้ว กระดาษ พลาสติก โลหะ/อโลหะ ซึ่งจากปริมาณขยะมูลฝอยทั้งหมด มีอยู่ประมาณ 42 % ขยะประเภทนี้ให้แยกใส่ถัง สีเหลือง เพื่อจะถูกนำไปรีไซเคิลและนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ใหม่
3. ขยะมีพิษ หรือขยะมีพิษที่ต้องเก็บรวบรวมแล้วนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี เช่น กระป๋องยาฆ่าแมลง หลอดไฟ ถ่านไฟฉาย ซึ่งจากปริมาณขยะมูลฝอยทั้งหมด มีอยู่ประมาณ 3 % ขยะประเภทนี้ให้แยกใส่ถังสีแดง เพื่อจะนำไปกำจักอย่างถูกวิธี
4. ขยะทั่วไป เป็นขยะที่ย่อยสลายยากและไม่คุ้มค่าในการนำไปรีไซเคิล เช่น ซองบะหมี่สำเร็จรูป เปลือกลูกอม ถุงขนม ถุงพลาสติก จากปริมาณขยะมูลฝอยทั้งหมด ประมาณ 9 % ขยะประเภทนี้ให้แยกใส่ถังสีน้ำเงิน เพื่อจะถูกนำไปฝังกลบรอการย่อยสลาย
วิธีการกำจัดขยะ
การกำจัดขยะไม่ให้มี คงกำจัดไม่ได้ เพราะในชีวิตประจำวันเราต้องใช้สิ่งของที่เป็นเครื่องอุปโภคบริโภค จึงจำเป็นต้องมีของเหลือทิ้งวิธีที่จะทำให้ขยะไม่เป็นปัญหากับมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ก็คือการลดปริมาณขยะการทำให้ปริมาณขยะที่จะทิ้งลดลง อาจโดยการนำสิ่งที่เป็นขยะนั้นกลับมาใช้ประโยชน์อีกหรือ การลดปริมาณการใช้และให้เหลือสิ่งที่จะทิ้งเป็นขยะจริงเพียงเท่าที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์อื่นใดได้อีก ดังนี้
1.การลดการใช้ หรือการลดขยะจากแหล่งที่เกิด โดยพยายามหลีกเลี่ยงหรือลดการเกิดขยะหรือมลพิษที่เกิดขึ้น เช่นการใช้ถุงผ้าแทน การใช้ถุงพลาสติก
2.การนำผลิตภัณฑ์มาใช้ซ้ำ เป็นการนำวัสดุของใช้กลับมาใช้ในรูปแบบเดิมหรือนำมาซ่อมแซมใช้ หรือนำมาใช้ทำประโยชน์อื่น ๆ โดยแบ่งได้เป็น 2 ขั้นตอนคือ
– ขั้นตอนการผลิตสินค้า พยายามทำให้เกิดเศษวัสดุหรือของเสียน้อยที่สุด
– ขั้นตอนการนำของใช้มาใช้ซ้ำ เป็นการยืดอายุการใช้งานก่อนจะนำไปทิ้ง เช่น การนำขวดพลาสติกมาบรรจุน้ำ การใช้กระดาษ 2 หน้า
3. การนำกลับมาผลิตใหม่ เป็นการแยกวัสดุที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ออกจากขยะและรวบรวมใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าขึ้นใหม่หรือเรียกว่า รีไซเคิล
4. การหลีกเลี่ยงการใช้วัสดุกำจัดยาก เช่น กล่องโฟม การใช้จานหรือแก้วกระดาษ ยาฆ่าแมลง ควรใช้สมุนไพรเป็นสารกำจัด หรือนำส่งให้หน่วยงานอื่นไปกำจัดให้ถูกหลักวิชาการ
5. การซ่อมแซมนำกลับมาใช้ใหม่ เป็นการซ่อมแซมวัสดุที่ใช้แล้ว ที่สามารถซ่อมแซมนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เช่น การซ่อมแซมเสื้อผ้า อุปกรณ์ไฟฟ้าชำรุด เป็นต้น